แนะนำ

สถาปนิกผู้ผันตัวมาเป็นช่างภาพ

by Kris Provoost

Article Categories

คริส โพรวูสต์ สถาปนิกฝีมือฉกาจผู้มาพร้อมปริญญามหาบัณฑิตสาขาสถาปัตยกรรมและความเชี่ยวชาญอย่างเอกอุในสายงานตระหนักว่าประสบการณ์นานปีของเขาคือจุดเริ่มต้นชั้นดีที่ทำให้การเริ่มถ่ายภาพแนวสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน และโครงสร้างพื้นฐานของเขาเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ด้วยต้นทุนด้านคุณสมบัติอันเพียบพร้อมดังที่กล่าวมา ทั้งหมดที่เขาต้องทำจึงมีเพียงการศึกษากฎเกณฑ์ของการถ่ายภาพให้ขึ้นใจ หลังจากนั้นเขาก็ได้รู้ว่าการหลอมรวมความสนใจทั้งสองด้านเข้าด้วยกันนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น 

Alpha 7R IV | FE 12-24mm F2.8 GM | 24 มม. | 1/160 วินาที | F2.8 | ISO 100

ก่อร่างสร้างภาพ 

ในฐานะของสถาปนิกผู้ร่ำเรียนฝึกฝนมาตลอด คริสได้รับการสอนว่าดีไซน์ของอาคารคือตัวบอกเล่าเรื่องราว เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางมาเป็นช่างภาพในท้ายที่สุด แนวคิดของการบอกเล่าเรื่องราวนี้จึงกลายเป็นพื้นฐานให้กับวิธีการที่เขาใช้ในการถ่ายภาพอาคารต่าง ๆ  

“ปัจจุบันมีอุปกรณ์มากมายให้ช่างภาพได้เลือกใช้งาน ทุกสิ่งจึงเป็นไปได้โดยไร้ข้อจำกัด เลนส์ที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับเรื่องราวที่ผมอยากบอกเล่า สำหรับภาพทิวทัศน์ของเมือง สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือเลนส์เทเลโฟโต้เพราะจะช่วยเก็บรายละเอียดในส่วนของทิวทัศน์ให้โดยคุณสามารถใส่ใจกับวัตถุได้อย่างเต็มที่ ในเมืองใหญ่ที่มีความหนาแน่นอย่างเช่นฮ่องกง เลนส์ตัวนี้จะช่วยดึงวัตถุให้โดดเด่นพร้อมทั้งคงความสวยสบายตาในฉากหลังเอาไว้" 

Alpha 7R IV | FE 12-24mm F2.8 GM | 24 มม. | 1/800 วินาที | F2.8 | ISO 100

คริสมักค้นคว้าและวางแผนการถ่ายภาพของตนล่วงหน้าเสมอ รวมทั้งทดลองใช้มุมกล้องที่ต่างกันในการถ่ายภาพอาคารหนึ่ง ๆ ก่อนที่จะกลับไปถ่ายจริง ณ ช่วงเวลาหรือในระหว่างช่วงเวลาที่มีแสงเหมาะกับการถ่ายภาพที่สุด แม้ว่าจะมีการเตรียมการเป็นอย่างดี แต่คริสจะย้ำเสมอถึงความสำคัญของการมีอุปกรณ์ที่ไว้วางใจได้ “แสงคือทุกสิ่งทุกอย่างในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม แสงจะให้คอนทราสต์และความลึกแก่ตัวอาคาร และเป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องราว คุณควบคุมดวงอาทิตย์หรือสภาพอากาศไม่ได้ ซึ่งอาจฟังดูน่าหงุดหงิดแต่ก็ถือเป็นโอกาสที่จะได้ถ่ายภาพที่ต่างไปจากปกติด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้การมีอุปกรณ์หลักที่เชื่อถือได้จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างแท้จริง ผมรู้ว่าผมเชื่อใจในอุปกรณ์เหล่านี้ได้ตั้งแต่การถ่ายรูปตามปกติไปจนถึงการเปลี่ยนเลนส์อย่างรวดเร็วตามที่ผมต้องการ" คริสกล่าวเสริม 

กล้อง Alpha 7R IV มีส่วนอย่างมากในเส้นทางการถ่ายภาพของคริส ท่ามกลางคุณสมบัติมากมายที่ทำให้เขามีอิสระในการสอดแทรกความเป็นตัวเองไว้ในภาพถ่ายได้อย่างสร้างสรรค์ จำนวนพิกเซลอันมากมายของกล้องคือหนึ่งในคุณสมบัติที่เขาโปรดปราน ด้วยคุณภาพของภาพที่ระดับ 61 ล้านพิกเซลทำให้เขาสามารถถ่ายภาพที่มีขนาดใหญ่ขึ้นพร้อมทั้งครอปภาพให้เหมาะกับการเล่าเรื่องในมุมมองที่ต่างออกไปได้ "ภาพครอปที่ได้ออกมาจะยังคงน่าทึ่งเสมอแม้ว่าจะถูกพิมพ์ออกมาเป็นภาพขนาดใหญ่ และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมชอบมันมาก และยังหมายถึงว่าคุณสามารถเอารูปถ่ายของตัวเองกลับมาใช้ใหม่ได้แค่เพียงเพิ่มลูกเล่นที่มีความสร้างสรรค์เข้าไปเท่านั้น!" 

Alpha 7R IV | FE 70-200mm F2.8 GM OSS II | 200 มม. | 1/60 วินาที | F2.8 | ISO 640

แสงกำหนดอารมณ์ 

ไม่ว่าอย่างไร การไม่วางแผนมากเกินไปคือสิ่งที่คริสระมัดระวังอยู่เสมอ "ความน่าประหลาดใจคือองค์ประกอบที่จำเป็นต้องมีเพื่อทำให้ภาพถ่ายหนึ่ง ๆ โดดเด่นเหนือภาพอื่น ไม่ว่าจะเป็นแสงวาบจากดวงอาทิตย์ หรือเงาสะท้อนแบบฉับพลัน หรือวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่โดยมีการจัดวางตำแหน่งอย่างสมบูรณ์แบบ ล้วนทำให้ภาพถ่ายของคุณมีความโดดเด่นได้ทั้งสิ้น" 

การใช้ประโยชน์จากสภาพแสงที่ต่างกันของแสงอาทิตย์ (เช่น สีอุ่นขึ้นหรือเย็นลง) สามารถสะท้อนอารมณ์ของภาพถ่ายอาคารได้ แสงมีบทบาทสำคัญมาก และช่างภาพที่ถ่ายภาพทิวทัศน์เมืองจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการที่จะเล่นกับแสงด้วย สำหรับคริสแล้ว แสงแบบต่าง ๆ ส่งผลต่ออารมณ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง เขามักหลีกเลี่ยงแสงในช่วงกลางวัน ในขณะเดียวกันก็ชื่นชอบที่จะใช้เวลาไปกับการถ่ายภาพท่ามกลางแสงช่วงเช้าตรู่ บ่ายคล้อยจนถึงช่วงแสงสีทอง รวมถึงช่วงโพล้เพล้อย่างเต็มที่ 

Alpha 7R IV | FE 14mm F1.8 GM | 14 มม. | 1/80 วินาที | F1.8 | ISO 400

หลังจากที่ศึกษาแสงธรรมชาติมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เขาจึงได้ข้อสรุปว่าแสงช่วงเช้าตรู่ทำให้ภาพถ่ายดูน่าตื่นตาตื่นใจที่สุด เพราะสื่อถึงการมาถึงของวันใหม่ได้อย่างชัดเจน ในทางกลับกัน แสงยามบ่ายที่ดูอ่อนลงจะทำให้บรรยากาศมีความผ่อนคลายมากขึ้นเนื่องจากความสับสนวุ่นวายของการทำงานได้จบลงในที่สุด ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นคือช่วงเวลาแห่งแสงสีทองที่เฝ้ารอ สำหรับคริส แสงที่ตัดกันบนท้องฟ้าที่กำลังเปลี่ยนสีลดหลั่นกันนั้นคือความงดงามอันน่าพิศวง” หลังจากถ่ายภาพมาตลอดทั้งวัน โมงยามนี้คือช่วงเวลาที่เข้ากับการถ่ายภาพของผมและจังหวะการเคลื่อนไหวของแสงที่สุดแล้วครับ ช่วงเวลานี้ยังทำให้ผมได้ผลงานที่ดีที่สุดอีกด้วย" คริสกล่าวอย่างภาคภูมิใจ 

Alpha 7R IV | FE 12-24mm F2.8 GM | 22 มม. | 1/400 วินาที | F2.8 | ISO 100

ภาพถ่ายสถาปัตยกรรมมักมีสีโทนอบอุ่นอันเนื่องมาจากแสงอาทิตย์ (ยกเว้นภาพที่ถ่ายในช่วงโพล้เพล้) ด้วยเหตุนี้ คริสจึงตั้งมั่นว่าสิ่งสำคัญสำหรับช่างภาพคือการตัดสินใจให้ได้ก่อนว่าอยากให้ภาพของตนมีอารมณ์แบบใด แม้ว่าการปรับแต่งภาพจะช่วยควบคุมสีแท้ได้เล็กน้อย แต่โดยส่วนตัวแล้ว เขาชอบให้มีการปรับแต่งเชิงดิจิทัลน้อยลงเพื่อรังสรรค์การนำเสนอสิ่งปลูกสร้างตามจริงมากกว่า “ไม่มีอุณหภูมิสีหนึ่งสีใดที่ถูกต้องเป๊ะ ๆ หรอกครับ มันขึ้นอยู่กับว่าช่างภาพจะควบคุมเฟรมแต่ละเฟรมอย่างไรมากกว่า ตั้งแต่เงาสะท้อน พื้นผิวอาคาร และแม้กระทั่งวัสดุตัวอาคาร เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในแบบที่ต้องการ"  

ในฐานะช่างภาพสถาปัตยกรรม ขาตั้งกล้องคืออุปกรณ์สำคัญสำหรับคริส ความมั่นคงของขาตั้งกล้องช่วยให้เขาถ่ายภาพโดยใช้ค่า ISO ต่ำ และได้ภาพที่มีนอยส์น้อยลงได้ ในขณะที่การลดความเร็วชัตเตอร์ลงก็ช่วยในการจับภาพความเคลื่อนไหวอีกด้วย คริสค้นพบว่าการลดความเร็วชัตเตอร์ลงจะทำให้ภาพถ่ายอาคารมีความคมชัดสมบูรณ์แบบ และการถ่ายโดยใช้ค่า f-stop สูงขึ้นจะทำให้ภาพโดยรวมมีความเด่นชัดสดใสทั่วทั้งภาพ 

Alpha 7R IV | FE 70-200mm F2.8 GM OSS II | 70 มม. | 1/60 วินาที | F2.8 | ISO 400

มุ่งเน้นไปที่มุมมองของคุณ 

สำหรับช่างภาพมือใหม่ คำแนะนำจากคริสคือให้มุ่งเน้นไปที่เรื่องราวของคุณ "บางครั้งการปรับเลื่อนเส้นขอบฟ้าหรือจัดสมดุลเล็กน้อยก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ภาพของคุณแตกต่างไปจากภาพถ่ายเส้นขอบฟ้านับล้านภาพในโลกออนไลน์ ศึกษาวิธีการใช้วัตถุในฉากหน้าและฉากหลังเพื่อดึงความสนใจของผู้ชมกลับไปที่เรื่องราวของคุณ ผมมักกลับไปดูตัวอาคารที่เคยถ่ายภาพไปแล้วเพื่อดูว่าผมจะถ่ายมันออกมาในมุมมองใหม่ได้ไหม" คริสผู้เฉียบแหลมกล่าว 

Alpha 7R IV | FE 12-24mm F2.8 GM | 23 มม. | 1/500 วินาที | F2.8 | ISO 100

ช่างภาพบางคนอาจกระตือรือร้นที่จะได้บอกเล่าเรื่องราวมากเสียจนทำให้ภาพถ่ายเต็มไปด้วยสิ่งต่าง ๆ มากมายเกินจำเป็น สำหรับคริส เรื่องราวหนึ่ง ๆ จำเป็นต้องมีความยับยั้งชั่งใจ ช่างภาพต้องไตร่ตรองและแสดงให้เห็นถึงสาระสำคัญของตัวแบบ การเลือกธีมที่เหมาะสมและไม่หลุดธีมที่เลือกไว้เท่ากับว่าส่วนประกอบใด ๆ ที่ไม่ได้สะท้อนถึงข้อความแบบเดียวกันจะถูกตัดออก สำหรับคริส การมุ่งเน้นเรื่องราวที่เขาต้องการบอกเล่าโดยไม่หลุดออกนอกประเด็นย่อมหมายถึงผลงานที่ได้จะมีความหมายมากขึ้นและสร้างแรงกระเพื่อมได้มากขึ้น  

"คุณไม่มีทางเตรียมพร้อมได้อย่างสมบูรณ์หรือทำนายสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องเต็มร้อยหรอกครับ อย่ากลัวที่จะทดลองอะไรใหม่ ๆ และไม่เป็นไรเลยถ้าคุณจะจำกัดตัวเองเอาไว้ที่เลนส์เพียง 1 ตัว เพราะข้อจำกัดจะกดดันให้คุณต้องคิดหาวิธีแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าให้ได้ และอาจถึงขั้นช่วยให้คุณค้นพบมุมมองใหม่ก็เป็นได้ ความต้องการถ่ายภาพอาคารคือแรงผลักดันของผม" คริสสรุป 

Alpha 7R IV | FE 70-200mm F2.8 GM OSS II | 178 มม. | 1/60 วินาที | F2.8 | ISO 400
Article Theme

Chúng tôi muốn yêu cầu quyền truy cập vào Định vị địa lý của bạn để cung cấp cho bạn trải nghiệm tùy chỉnh. Vui lòng biết rằng bạn có thể rút lại sự đồng ý của mình bất cứ lúc nào thông qua cài đặt trình duyệt của bạn.